ตรวจการนอนหลับ
ตรวจการนอนหลับ เป็นการตรวจด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย สามารถบอกได้ว่า คุณภาพในการนอนของคืนนั้นๆ เป็นอย่างไร หลับได้ดีหรือสนิทเพียงไร มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ โดยที่ผู้ป่วยเองไม่สามารถทราบได้ โดยเฉพาะภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การตรวจการนอนหลับนี้ประกอบด้วย
1. การตรวจวัดคลื่นสมอง เพื่อวัดระดับความลึกของการนอนหลับ และ การตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อขณะหลับหลับได้สนิทมากน้อยแค่ไหน ประสิทธิภาพการนอนดีเพียงใด
2. การตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะหลับ หัวใจมีการเต้นผิดจังหวะ ที่อาจมีอันตรายได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด
3. การตรวจวัดความอิ่มตัวของระดับออกซิเจนในเลือดแดงขณะหลับ สมอง หัวใจ ขาดออกซิเจนหรือไม่
4. การตรวจวัดลมหายใจที่ผ่านเข้าออกทางจมูกและปาก และ การตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและกล้ามเนื้อหน้าท้อง ที่ใช้ในการหายใจ มีการหยุดหายใจหรือเปล่าเป็นชนิดไหน ผิดปกติมากน้อยหรืออันตรายแค่ไหน
5. การตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอก และกล้ามเนื้อหน้าท้อง ที่ใช้ในการหายใจ
6. การตรวจเสียงกรน กรนจริงหรือไม่ กรนดังค่อยแค่ไหน กรนตลอดเวลาหรือไม่ กรนขณะนอนท่าไหน
7. การตรวจท่านอน ในแต่ละท่านอน มีการกรนหรือการหายใจผิดปกติแตกต่างกันอย่างไร
ตรวจการนอนหลับ เป็นการตรวจด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อบันทึกรายละเอียดต่างๆ ของร่างกายขณะนอนหลับหลายๆ อย่าง วิธีการคล้ายกับการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่จะมีการติดอุปกรณ์ต่างๆ มากกว่า สำหรับสถานที่ที่ใช้ในการตรวจนั้น ถ้าเป็นการตรวจชนิดจำกัด อุปกรณ์จะมีไม่มาก เฉพาะเท่าที่จำเป็น สามารถเคลื่อนย้ายเพื่อไปทำการตรวจที่บ้านผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสะดวกไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องติดอุปกรณ์มากนักเหมาะสำหรับกรณีผู้ป่วยเด็ก และสามารถนอนได้อย่างเป็นธรรมชาติเพราะนอนที่บ้านตัวเอง แต่ผลการตรวจอาจจะไม่ละเอียด หรือต่ำกว่าความเป็นจริงบ้าง เพราะไม่สามารถตรวจการทำงานของสมองได้ ตรวจได้เฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการหายใจเป็นหลัก
อีกชนิดหนึ่งเป็นการตรวจการนอนหลับชนิดมาตรฐาน
ต้องทำในห้องปฏิบัติการนอนหลับ (Sleep laboratory) ซึ่งจะต้องมีการฝึกบุคลากรขึ้นมาเฉพาะ เพราะการตรวจค่อนข้างซับซ้อน และมีการติดอุปกรณ์ตามร่างกายหลายอย่าง สามารถบอกได้ว่า คุณภาพในการนอนของคืนนั้นๆ เป็นอย่างไร หลับได้ดีหรือสนิทเพียงไร มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ การบันทึกด้วย PSG นั้น อาจจะให้ผู้ป่วยมารับการตรวจในห้องปฏิบัติการตรวจการนอนหลับเป็นเวลา 2 คืน เพราะลักษณะของการนอนหลับในคืนแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับสถานที่ทำให้นอนหลับได้ยาก หลับไม่ต่อเนื่อง พลิกตัวบ่อย ประสิทธิภาพของการนอนหลับลดลง อาจมีการลดลงหรือเพิ่มขึ้นของการหลับในช่วงต่างๆ ในคืนที่ 2 ผู้ป่วยจะเริ่มคุ้นเคยกับห้องปฏิบัติการและการนอนหลับจะใกล้เคียงกับการนอนหลับที่บ้านมากขึ้น ถ้าพบว่ามีการหยุดหายใจบ่อย อาจให้ลองใส่เครื่องช่วยหายใจ (CPAP) แล้วทำการปรับความดัน เพื่อให้ทราบค่าความดันที่เหมาะสมที่สุด ที่ใช้รักษาการหยุดหายใจ การที่ผู้ป่วยต้องเดินทางมาห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจการนอนหลับ บางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถมารับการตรวจในลักษณะนี้ได้
การตรวจการนอนหลับทั้งสองชนิด เป็นที่ยอมรับว่าเป็น Gold standard หรือการตรวจที่ดีที่สุดที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคของการนอน โดยเฉพาะภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สำหรับการวินิจฉัยความผิดปกติขณะนอนหลับ จะทำการวัดตลอดทั้งคืน อย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการหลับของคนทั่วไป ระยะเวลาที่นอนหลับ ถ้าน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ผลที่ได้จะเชื่อถือได้น้อย ผลการตรวจการนอนหลับ ที่ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลการวัดระดับความลึกของการนอนหลับเอง จะผิดพลาดได้มาก ต้องมีแพทย์หรือเจ้าหน้าที่มีความชำนาญในการอ่านคลื่นสมอง ตรวจเช็คผลซ้ำอีกครั้งด้วย จึงจะเชื่อถือได้